วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2556

นวัตกรรมการศึกษาปฐมวัย
          นวัตกรรม (Innovation) หมายถึง การคิด การทำสิ่งใหม่ๆ  ที่ยังไม่เคยมีใครใช้มาก่อนหรือเป็นการพัฒนาดัดแปลงของเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม
ชื่อนวัตกรรม     เกมการศึกษา “ภาพตัดต่อ
ชื่อผู้สร้าง        นางศิริพร  สีม่วง   ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านเพชรนิยม 
                   สังกัด องค์การบริหารส่วนตำบลสักงาม   อำเภอคลองลาน  จังหวัดกำแพงเพชร 
                   โทรศัพท์ 083 - 1651989  ,  084 – 5769828
ลักษณะของนวัตกรรม
          เกมการศึกษา เป็นเกมการเล่นที่ช่วยพัฒนาสติปัญญา มีกฎเกณฑ์กติกาง่ายๆ เด็กสามารถเล่นคนเดียว หรือเล่นเป็นกลุ่มได้  ช่วยให้เด็กได้รู้จักสังเกต คิดหาเหตุผล และเกิดความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสี รูปร่าง จำนวน ประเภท และความสัมพันธ์เกี่ยวกับพื้นที่ ระยะ เกมการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับเด็กวัย 3 – 6 ปี เช่น เกมจับคู่ แยกประเภท จัดหมวดหมู่ เรียงลำดับ โดมิโน ลอตโต ภาพตัดต่อ ต่อตามแบบ ฯลฯ
         เกมภาพตัดต่ออันเดิม เป็นภาพต่าง ๆ  ที่อยู่ในหน่วยการเรียนรู้ของแต่ละสัปดาห์    มีลักษณะเป็นภาพที่ดึงดูดความสนใจดี แต่วิธีการเล่นยังค่อนข้างยากมาก สำหรับเด็กกลุ่มอายุ2 - 4 ปี   (เด็กที่อยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีอายุ     ระหว่าง 2 - 4 ปี) เด็กยังมีการสังเกตและจดจำภาพไม่ได้ดีเท่าไรนักและสื่อไม่มีภาพต้นฉบับให้เด็กได้สังเกตหรือไม่มีสิ่งที่จะทำให้เด็กได้รู้จักสังเกตและเปรียบเทียบจึงทำให้เด็กเล่นเกมภาพตัดต่อที่จะประกอบภาพได้ยากมาก

นวัตกรรมเกมการศึกษา ภาพตัดต่ออันใหม่ คือ เป็นการพัฒนาจากเกมภาพตัดต่อเดิม โดยการแปะกระดาษสีที่เหมือนกันให้เด็กได้สังเกตแล้ววางภาพตัดต่อได้ถูกต้องและเด็กยังสามารถเล่นเกมได้ง่ายขึ้นไปจากเดิมและเป็นการส่งเสริมทักษะทางคณิตศาสตร์ในเรื่องรูปทรงและการจับคู่สีที่เหมือนกันไปในตัวด้วย ทำให้เด็กสามารถเล่นเกมภาพตัดต่อได้ง่ายขึ้น และอาจจะจัดเป็นการแข่งขันเล็ก ๆมีรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ  เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็ก และกระตุ้นการเล่นเกมให้สนุกและตื่นเต้นมากขึ้น






แนวคิด หลักการ ทฤษฎีที่ใช้
          แนวคิดของ ฌอง เพียเจท์ <Jean Piaget 1896 – 1980> นักจิตวิทยาชาวสวิต ที่ศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการด้านการคิดและการเรียนรู้ของเด็กและได้เสนอทฤษฎีทางสติปัญญาที่แสดงถึงขั้นพัฒนาการของการคิดและสติปัญญา ซึ่งจะมีความต่อเนื่องกันในแต่ละขั้นพัฒนาการ เพียเจท์ได้สรุปแนวคิดเกี่ยวกับพัฒนาการทางสติปัญญาว่า กระบวนการพัฒนาทางสติปัญญาเป็นผลจากการที่เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่อยู่โดยรอบทั้งสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ทางสังคม วัฒนธรรมและบุคคล การปฏิสัมพันธ์นี้ทำให้สร้างเป็นความรู้ความเข้าใจที่มีสิ่งต่างๆ
(ที่มา : วัฒนา ปุญญฤทธิ์  และ อัญชลี ไสยวรรณ, 2549 ; 14)
          นอกจากนี้ เพียเจท์ ได้กล่าวเอาไว้ว่า การเล่นมีความสำคัญต่อการพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็ก จากการเล่น เด็กจะสามารถแยกแยะสิ่งต่างๆ จากสิ่งเร้าได้ และขณะที่เด็กตอบสนองสิ่งเร้าเด็กจะรับรู้สิ่งต่างๆ เข้ามาในสมอง  และกิจกรรมเกมการศึกษาก็เป็นกิจกรรมการเล่นอย่างหนึ่งที่สามารถส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสติปัญญาได้เช่นกัน
(ที่มา : กนกกร บุษยะกนิษฐ์ และคณะ , 2550 ; 69)
วัตถุประสงค์ของการทำนวัตกรรม
1.       เพื่อให้ผู้เรียนมีพัฒนาการทางด้านสติปัญญา ได้รู้จักสังเกต และรู้จักการแก้ปัญหา
2.       เพื่อให้ผู้เรียนมีการพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมือและการประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา
3.       เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความสนุกสนาน และเพลิดเพลินในการทำกิจกรรม
4.       เพื่อให้ผู้เรียนได้รู้จักการช่วยเหลือกัน


ลำดับขั้นตอนการจัดกิจกรรม

ขั้นนำ
1.       ครูสนทนากับนักเรียนเกี่ยวกับเกมการศึกษาภาพตัดต่อ
2.       ครูให้นักเรียนสังเกตสื่อการสอน เกมการศึกษาภาพตัดต่อ

ขั้นสอน
1.       ครูอธิบายวิธีการเล่นเกมการศึกษาภาพตัดต่อ
2.       ครูให้นักเรียนเลือกภาพเกมการศึกษาภาพตัดต่อที่ตนเองสนใจแล้วนำไปเล่นด้วยตนเอง
3.       ครูให้นักเรียนเลือกเล่นเกมการศึกษาภาพตัดต่อด้วยตนเอง หรือ เล่นร่วมกันกับเพื่อน ๆ ก็ได้
4.       เมื่อนักเรียนเล่นเกมการศึกษาภาพตัดต่อเสร็จแล้วให้นำมาส่งครู แล้วสามารถนำเกมการศึกษาภาพตัดต่อ รูปภาพใหม่ไปเล่นอีกได้

ขั้นสรุป
1.       ครูสังเกตพฤติกรรมการเล่นเกมการศึกษาภาพตัดต่อและจดบันทึกผลการทำกิจกรรมของนักเรียน
2.       ครูสรุปวิธีการเล่นเกมการศึกษาภาพตัดต่อร่วมกันกับนักเรียน
3.       ครูและนักเรียนร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้รับจากเกมการศึกษาภาพตัดต่อ

ผลการดำเนินงาน
1.       นักเรียนมีพัฒนาการทางด้านสติปัญญาที่ดีขึ้น รู้จักการสังเกตและการแก้ปัญหาด้วยตนเอง
2.       นักเรียนมีพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมือและการประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับตาที่ดีขึ้น
3.       นักเรียนเกิดความสนุกสนานและความกระตือรือร้นในการเรียนเพิ่มขึ้น